Tuesday, February 7, 2012

ยิ่งอ้วนยิ่งเจ็บปวด ยิ่งซ้ำเติมตนเอง


งานวิจัยล่าสุดของ Arthur Stone และ Joan Broderick แห่ง Stony Brook University อาจจะเป็นข่าวร้ายที่ซ้ำเติมชีวิตคนอ้วนให้เศร้าหนักมากขึ้นกว่าเก่า นักวิจัยทั้งสองวิเคราะห์พบว่ายิ่งเราอ้วนมากเท่าไร เราก็จะต้องเจอกับอาการเจ็บปวดในชีวิตประจำวันมากขึ้นเท่านั้น

ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ครั้งนี้เอามาจากข้อมูลการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ของชาวอเมริกัน 1,010,762 คนที่ทำโดย Gallop Organization ระหว่างปี 2008-2010 นักวิจัยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 5 กลุ่มตาม BMI (body mass index) ดังนี้ กลุ่มที่มี BMI ต่ำกว่า 25 ลงไป, กลุ่มน้ำหนักเกินมาตรฐาน (BMI 25-30), กลุ่มอ้วนระดับ 1 (BMI 30-35), กลุ่มอ้วนระดับ 2 (BMI 35-40), และกลุ่มอ้วนระดับ 3 (BMI 40 ขึ้นไป)

ผลจากการวิเคราะห์ออกมาว่า เมื่อเอากลุ่มที่มี BMI ต่ำกว่า 25 เป็นฐาน กลุ่มที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานมีแนวโน้มรายงานว่าร่างกายตัวเองเจอความเจ็บปวดในชีวิตประจำวันถี่กว่าฐานของคนน้ำหนักตัวปกติ 20% และตัวเลขนี้ก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ตามน้ำหนักตัว กลุ่มอ้วนระดับ 1 รายงานความเจ็บปวดถี่กว่าฐานปกติ 68%, กลุ่มอ้วนระดับขยับขึ้นมาเป็น 136%, กลุ่มอ้วนระดับ 3 พุ่งไปถึง 254% เมื่อเทียบกับฐาน

แม้จะตัดปัจจัยเรื่องผลของน้ำหนักตัวที่สร้างภาระต่อกล้ามเนื้อและข้อต่อออกไปแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างความอ้วนและความเจ็บปวดก็ยังคงปรากฏมีอยู่ แสดงให้เห็นว่าไขมันส่วนเกินที่สะสมในร่างกายของคนอ้วนน่าจะไปกระตุ้นอะไรบางอย่างที่เพิ่มความเจ็บปวด เช่น เพิ่มการอักเสบ เป็นต้น

นอกจากนี้ก็อาจจะยังมีเรื่องของภาวะซึมเศร้าเข้ามาเกี่ยวข้อง คนที่เป็นโรคอ้วนมีแนวโน้มจะเกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนปกติอยู่แล้ว และก็เคยมีงานวิจัยชี้ว่าภาวะซึมเศร้าเองก็มีผลเพิ่มความรู้สึกเจ็บปวดด้วย

Thursday, January 26, 2012

นักวิจัยชี้ดื่มกาแฟอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน


นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสารประกอบ 3 อย่างในกาแฟนั้นอาจมีส่วนช่วยในการป้องกันการสะสมของโปรตีนบางชนิดที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นโรคเบาหวานที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและอาหารที่รับประทานได้ รายงานหลายชิ้นก่อนหน้านี้ระบุถึงประโยชน์หลายอย่างของกาแฟ เช่นอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากและโรคมะเร็งทรวงอก หรืออาจนำมาใช้กระตุ้นการทำงานของสมองเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สในอนาคตได้

รายงานหลายชิ้นระบุถึงประโยชน์หลายอย่างของกาแฟ เช่นอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากและโรคมะเร็งทรวงอก หรืออาจนำมาใช้กระตุ้นการทำงานของสมองเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สในอนาคตได้
ล่าสุดนักวิจัยจีนชี้ว่าการดื่มกาแฟอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้อีกด้วย

รายงานก่อนหน้านี้ค้นพบว่าผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 4 แก้วขึ้นไปนั้นจะมีโอกาสเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ลดลง 50% แต่รายงานชิ้นใหม่ซึ่งศึกษาโดยนักวิทยาศาสตร์จีนและตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Agricultural and Food Chemistry อธิบายสมมติฐานดังกล่าว


รายงานระบุว่าสารประกอบ 3 ชนิดในกาแฟคือ คาเฟอีน กรดคาเฟอิคและกรดโคล โรเกนิค อาจมีผลยับยั้งการก่อตัวของสารโปรตีนเป็นพิษที่เรียกว่า hIAPP หรือ Human Islet Amyloid Polypeptide และปกป้องเซลล์ตับอ่อนไม่ให้ถูกทำลาย hIAPP คือสารเคมีที่พบในตับอ่อน แต่ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะมีการก่อตัวของสารเคมีชนิดนี้ในระดับเกินปกติซึ่งไปทำลายเซลล์ของตับอ่อน

นักวิจัยจีนพบว่าสารประกอบในกาแฟทั้ง 3 ชนิดนั้นมีฤทธิ์ต่อการยับยั้งการก่อตัวของสารพิษดังกล่าวไม่เท่ากัน โดยกรดคาเฟอิคให้ผลดีที่สุด ทำให้นักวิจัยเชื่อว่ากาแฟประเภทที่ไม่ผสมคาเฟอีนก็อาจมีผลในด้านการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้เช่นกัน รายงานหลายชิ้นก่อนหน้านี้ชี้ว่าสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้วนั้น กาแฟประเภทที่ไม่มีคาเฟอีนอาจให้ผลดีกว่ากาแฟที่ผสมคาเฟอีนเสียด้วย


อย่างไรก็ตาม รายงานชิ้นนี้เป็นการทดลองกับสัตว์ในห้องทดลอง คาดว่าการทดสอบกับมนุษย์จะมีขึ้นในอีกไม่นานนี้