งานวิจัยล่าสุดของ Arthur Stone และ Joan Broderick แห่ง Stony Brook University อาจจะเป็นข่าวร้ายที่ซ้ำเติมชีวิตคนอ้วนให้เศร้าหนักมากขึ้นกว่าเก่า นักวิจัยทั้งสองวิเคราะห์พบว่ายิ่งเราอ้วนมากเท่าไร เราก็จะต้องเจอกับอาการเจ็บปวดในชีวิตประจำวันมากขึ้นเท่านั้น
ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ครั้งนี้เอามาจากข้อมูลการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ของชาวอเมริกัน 1,010,762 คนที่ทำโดย Gallop Organization ระหว่างปี 2008-2010 นักวิจัยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 5 กลุ่มตาม BMI (body mass index) ดังนี้ กลุ่มที่มี BMI ต่ำกว่า 25 ลงไป, กลุ่มน้ำหนักเกินมาตรฐาน (BMI 25-30), กลุ่มอ้วนระดับ 1 (BMI 30-35), กลุ่มอ้วนระดับ 2 (BMI 35-40), และกลุ่มอ้วนระดับ 3 (BMI 40 ขึ้นไป)
ผลจากการวิเคราะห์ออกมาว่า เมื่อเอากลุ่มที่มี BMI ต่ำกว่า 25 เป็นฐาน กลุ่มที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานมีแนวโน้มรายงานว่าร่างกายตัวเองเจอความเจ็บปวดในชีวิตประจำวันถี่กว่าฐานของคนน้ำหนักตัวปกติ 20% และตัวเลขนี้ก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ตามน้ำหนักตัว กลุ่มอ้วนระดับ 1 รายงานความเจ็บปวดถี่กว่าฐานปกติ 68%, กลุ่มอ้วนระดับขยับขึ้นมาเป็น 136%, กลุ่มอ้วนระดับ 3 พุ่งไปถึง 254% เมื่อเทียบกับฐาน
แม้จะตัดปัจจัยเรื่องผลของน้ำหนักตัวที่สร้างภาระต่อกล้ามเนื้อและข้อต่อออกไปแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างความอ้วนและความเจ็บปวดก็ยังคงปรากฏมีอยู่ แสดงให้เห็นว่าไขมันส่วนเกินที่สะสมในร่างกายของคนอ้วนน่าจะไปกระตุ้นอะไรบางอย่างที่เพิ่มความเจ็บปวด เช่น เพิ่มการอักเสบ เป็นต้น
นอกจากนี้ก็อาจจะยังมีเรื่องของภาวะซึมเศร้าเข้ามาเกี่ยวข้อง คนที่เป็นโรคอ้วนมีแนวโน้มจะเกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนปกติอยู่แล้ว และก็เคยมีงานวิจัยชี้ว่าภาวะซึมเศร้าเองก็มีผลเพิ่มความรู้สึกเจ็บปวดด้วย